เรียนรู้เรื่องชา Sayama ตั้งแต่ใบชาไปจนถึงเครื่องดื่ม ที่ไซตามะซึ่งเดินทางจากโตเกียวเพียง 1 ชั่วโมง
features
ชานับว่าเป็นทั้งผลิตภัณฑ์ยอดนิยมและสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น นอกจากแหล่งผลิตชาชื่อดังอย่างเกียวโตและชิซูโอกะแล้ว จังหวัดไซตามะที่ติดอยู่กับโตเกียวก็เป็นแหล่งผลิตชาชั้นยอดเช่นกัน ชาของบริเวณนี้เป็นที่รู้จักในชื่อชา Sayama มีรสชาติอร่อยและละเอียดอ่อน เป็นที่ภาคภูมิใจมากของผู้คนในท้องถิ่น ในบทความนี้เราจะพาคุณไปเยี่ยมชมเมือง Iruma ของจังหวัดไซตามะ และเรียนรู้เรื่องชา Sayama จากผู้ผลิตที่เป็นกันเอง พลางสัมผัสความละเอียดอ่อนของใบชานี้ผ่านรสชาติที่แสนสดชื่น
อัปเดตเมื่อ:2024.12.17
ชา Sayama พิเศษอย่างไร?
อันดับแรกเลยก็มาทำความรู้จักชา Sayama กันก่อน ชา Sayama เป็นชาที่นิยมปลูกกันทางตะวันตกเฉียงเหนือของโตเกียวและไซตามะ โดยมีความหนาแน่นเป็นพิเศษที่เมือง Tokorozawa ภาคตะวันตกของเมือง Iruma และละแวกเนินเขา Sayama ของเมือง Sayama ปัจจุบันก็ยังมีการขยายแหล่งเพาะปลูกไปทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของจังหวัดไซตามะ รวมถึงบริเวณเมือง Chichibu ด้วยเช่นกัน
เนื่องจากอุณหภูมิภาคเหนือของญี่ปุ่นนั้นหนาวเกินไปสำหรับการปลูกชา ถัดจากไซตามะขึ้นไปจึงไม่ค่อยมีจังหวัดไหนที่ปลูกชาได้อร่อยและต่อเนื่องเท่าจังหวัดนี้ เป็นแหล่งผลิตชาที่ประสบความสำเร็จขึ้นจากการลองผิดลองถูกของชาวสวนยุคเอโดะ (ปี 1603 – 1868) โดยปลูกชาที่เนินสูงและนำไปอบไอน้ำด้วยอุณหภูมิสูง เกิดเป็นวิธีเตรียมใบชาอันมีเอกลักษณ์ที่เรียกว่า Sayama Hiire
ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้ชา Sayama กลายเป็นใบชาที่ยอดเยี่ยมอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น ถึงขนาดที่ปรากฎอยู่ในเพลงเก็บชาสมัยก่อนซึ่งมีเนื้อร้องว่า “”สี Shizuoka, กลิ่น Uji, รส Sayama””
แม้เป็นชาเขียวรสอร่อยจากความพยายามของผู้คนหลายรุ่น แต่ชา Sayama ก็มีปริมาณผลิตน้อยมาก คิดเป็นราว 2% ของตลาดชาญี่ปุ่น ชาจากบริเวณอื่นๆ ของญี่ปุ่นสามารถเก็บเกี่ยวได้ 5 ครั้งต่อปี ในขณะที่ชา Sayama สามารถเก็บได้ 2 ครั้งต่อปีเท่านั้น เป็นความหายากที่ช่วยให้รสชาติของชา Sayama พิเศษยิ่งขึ้น !
ชาที่วางจำหน่ายโดย Ikenoyaen
จุดเด่นอีกอย่างขึ้นของชา Sayama คือ ทุกขึ้นตอนตั้งแต่ปลูก เก็บ ตาก คั่ว และวางจำหน่าย จะทำที่สวนชาเพียงแห่งเดียว ส่งผลให้แม้เป็นชาสายพันธุ์เดียวกัน ปลูกในบริเวณเดียวกัน ก็ยังมีความแตกต่างอย่างเด่นชัดต่างไปตามผู้ผลิต ผู้ผลิตที่ลองนำชา Sayama ไปทำเป็นชาแต่งกลิ่นก็มีมากเช่นกัน ช่วยเพิ่มมิติและเอกลักษณ์ให้กับความลุ่มลึกของชาเขียว
วัตถุดิบรสส้มของ Tanaka Seichaen ที่ใช้ในการทำชาแต่งกลิ่น
ชาแต่งกลิ่นของ Tanaka Seichaen
สัมผัสทุกขั้นตอนตั้งแต่เก็บใบชาไปจนถึงชงชา
เราต่างคุ้นเคยกับชาแบบขวด ถุง และใบ ซึ่งสามารถชงดื่มได้ง่ายๆ ที่บ้าน แต่ก็ไม่เคยรู้เลยว่าชาเหล่านี้มีที่มาอย่างไร
Sayama Chajuku ในจังหวัดไซตามะมีการจัดทัวร์ที่จะพาคุณไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ใกล้ตัวผ่านการทัศนศึกษาสถานที่ผลิตชา เป็นทัวร์ที่จัดขึ้นภายในสวนชา โดยมีไกด์เป็นชาวสวนชาท้องถิ่นที่ยินดีให้ความรู้และรักในงานปลูกชา
ทัวร์นี้เริ่มโดยการให้ความรู้เกี่ยวกับจุดเด่นของชา Sayama และขั้นตอนผลิตชาโดยชาวสวนชาท้องถิ่น หลังจากนั้นก็เป็นการชมสวนชา พร้อมลองสัมผัสการทำงานของชาวสวนชา
ขั้นตอนผลิตชาเริ่มจากการมองหาและเด็ดใบชาอ่อนๆ ที่ให้กลิ่นหอมอร่อย หลังจากได้ลองเด็ดใบชาแล้ว ทัวร์นี้จะพาคุณไปที่โรงผลิตชาเพื่อดูว่าชาสดใหม่เหล่านี้จะผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง คุณจะได้ทัศนศึกษาเครื่องจักรต่างๆ อย่างใกล้ชิด และลองคั่วใบชาที่เด็ดมาด้วยตัวเอง ทั้งยังสามารถชมขั้นตอนผลิตได้ด้วย สามารถสัมผัสกับกรรมวิธีสุดพิเศษของผู้ผลิต ซึ่งช่วยให้ชาเบลนด์นี้อัดแน่นไปด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
หลังจากชมโรงผลิตเสร็จแล้ว คุณก็จะได้ผ่อนคลายไปกับกิจกรรมชิมชาโดยนักชงชามืออาชีพ ชาจะถูกชงลงแก้วให้เห็นกันอย่างจะๆ ให้รสหวานและส่งกลิ่นน่าดื่ม ชวนให้รู้สึกว่าไม่มีสิ่งไหนที่จะอร่อยไปกว่าชาชงสดใหม่ๆ
ติดต่อสอบถาม : https://www.sayamagreenteaschool.com/contact
ค้นพบความแตกต่างผ่านเกมชิมชาที่เรียกว่า Tocha
Tocha เป็นเกมชิมชาที่ช่วยให้เข้าใจความแตกต่างของชาได้มากขึ้น เกมนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายศตวรรษ เล่นโดยให้ลองชิมชาหลากหลายชนิด แล้วทายให้ถูกว่าเป็นชาอะไร เราได้เดินทางไปสัมผัสประสบการณ์เกม Tocha นี้ที่ Tanaka Seichaen ร้านชาเก่าแก่บริเวณภาคกลางของ Iruma ที่เปิดกิจการมาตั้งแต่กลางยุคเอโดะ
เราได้นั่งลงบนเสื่อทาทามิในห้องแนวญี่ปุ่นดั้งเดิม โดยมีถ้วยชา ขนม และเอกสารอธิบายจุดเด่นของชาญี่ปุ่นและชา Sayama วางไว้ด้านหน้า จากนั้นก็ได้รับการเลคเชอร์อย่างคร่าวๆ เกี่ยวกับชา Sayama เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับชาที่จะได้ดื่มหลังจากนี้
เมื่อการอธิบายจบลง ชาก็จะถูกเทลงในถ้วยทีละถ้วย หลังจากนั้นก็มีการบอกชื่อชา และให้เวลาเราได้เก็บข้อมูลแล้วทายชื่อของชาให้ถูกต้อง เนื่องจากสามารถจดเมมโม่หลังการชิมได้ด้วย เราจึงพากันเขียนความรู้สึกหลังการชิมลงไปอย่างละเอียด ช่วยให้เข้าใจความละเอียดอ่อนของชาแต่ละประเภทได้มากขึ้น
เราได้สังเกตสี กลิ่น และรสชาติของชาแต่ละถ้วยอย่างระมัดระวัง พร้อมได้รับคำแนะนำไม่ให้กลั้วชาภายในปากเพราะจะทำให้รสขมกระจายไปกลบรสชาติละเอียดอ่อนอื่นๆ ส่วนขนมเตรียมไว้ให้ก็เหมาะมากสำหรับการรีเซ็ตรสชาติภายในปาก หลังจากได้ชิมครบทั้ง 5 ชนิดแล้ว เกมทายชื่อชาก็เริ่มต้นขึ้น !
เกมเริ่มต้นโดยเสิร์ฟชาให้เราลองชิมอีกครั้งทีละถ้วย โดยไม่มีการบอกชื่อชา และไม่ให้เวลาในการปรึกษากัน หลังจากนั้นก็ให้เราทำการทายโดยเลือกกระดาษที่เขียนชื่อชาไว้มาเรียงเป็นลำดับ เนื่องจากไม่อนุญาตให้เปลี่ยนกระดาษหลังจากที่สัมผัสแล้ว ประกอบกับมีจังหวะการเสิร์ฟที่รวดเร็ว จึงทำให้ Tocha เป็นเกมที่ยากมาก
เราได้ทราบว่าในบรรดาผู้ร่วมเกมหลายร้อยคน มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่สามารถทายชื่อชาได้ถูกทั้งหมด ทำให้เราเข้าใจถึงความยากของเกมนี้ ในขณะเดียวก็กระตุ้นความต้องการที่จะกลายเป็นผู้ชนะเกมรายใหม่ เมื่อความเงียบสงบปกคลุมไปทั่วห้อง เราก็ได้ดมกลิ่นและดื่มชาอย่างระมัดระวัง ในกรณีของผู้เขียนนั้น มีชาที่รู้สึกได้เลยว่าตรงกับรสชาติและจุดเด่นที่ได้รับการเลคเชอร์ไว้ล่วงหน้า
เมื่อชาเสิร์ฟครบและการทายจบลง ผลลัพธ์ก็ถูกประกาศขึ้น ปรากฎว่าผู้เขียนทายถูก 3 ถ้วย และมี 1 คนในกลุ่มของเราที่ทายถูกทั้ง 5 ถ้วย ! สำหรับผู้ที่ทายถูกทั้งหมดนั้น จะได้รับรางวัลเป็นเซ็ตชาที่หลากหลาย รวมถึงชาที่เสิร์ฟในเกม Tocha นี้ด้วย
การแข่งขันอย่างพอประมาณในเกม Tocha เป็นตัวเลือกที่ดีมากสำหรับการพัฒนาทักษะแยกแยะรสชา การจดจ่อสมาธิช่วยให้ค้นพบจุดเด่นและรายละเอียดเล็กน้อยที่ไม่สามารถพบได้โดยวิธีอื่น เป็นเกมที่ช่วยให้ใส่ใจและดื่มด่ำในชาที่ดื่มได้มากขึ้น
ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ชาที่ได้รับรางวัล
ดื่มชาท่ามกลางสวนชาสีเขียวขจี
ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น Iruma แผ่กว้างไปด้วยสวนชาสวยๆ สีเขียวขจี โดยเฉพาะที่ Chanowa นั้น เป็นชั้นลอยกลางแจ้งที่มาพร้อมกับวิวสวนชากว้างขวาง สามารถดื่มด่ำชาอย่างสบายๆ พลางชมต้นชาสวยๆ บริเวณนี้มีแพลนให้เลือกหลากหลาย แพลนที่เราได้เลือกคือ Selected Tea Plan ที่ให้บริการโดย Ikenoyaen ซึ่งเป็นผู้ผลิตชา Sayama ในท้องถิ่น มาพร้อมกับชาตามฤดูกาล 2 ชนิด และชาที่เราสามารถเลือกได้เองอีก 1 ชนิด
ก่อนเดินทางไปจุดปิคนิค เราได้แวะที่ร้าน Ikenoyaen เพื่อทำการสั่งชา เจ้าของร้านได้แนะนำวิธีเดินทางไป Chanowa และอุปกรณ์ที่ใช้ในบริเวณนั้นอย่างเบาะรองนั่ง ถ้วยชาม และชา พร้อมให้เราเลือกชาชนิดที่ 3 ตามแพลนที่เราเลือกไว้ นอกจากนี้ บริเวณโซนเก็บของของ Chanowa ก็ยังมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่างโต๊ะและเก้าอี้พับจัดเตรียมไว้
บริเวณนี้มีร้านหลายร้านที่ให้บริการแพลนชาสำหรับดื่มที่ Chanowa เนื่องจากมีระยะทางต่างกันไป จึงควรเตรียมพาหนะในการเดินทางอย่างรถเช่าและแท็กซี่ไว้ด้วย
จุดหมายของเราอยู่ห่างออกไปโดยขับรถเพียงไม่นาน ทันทีที่มาถึงก็ถูกห้อมล้อมไปด้วยสวนชาที่กว้างขวางราวกับท้องทะเล ระหว่างทางเดินไปชั้นนั่งยกสูงก็มีต้นชาสีเขียวขจีปกคลุมอยู่ ราวกับจะเชิญชวนพวกเราให้เข้าสู่โลกแห่งชา
เมื่อผ่านดงต้นชาออกไปก็จะพบกับ Chanowa ที่เป็นสิ่งก่อสร้างเพียงหนึ่งเดียวในสวนสีเขียวขจีนี้ เราได้ขึ้นไปบนชั้นนั่งยกสูงและดื่มด่ำไปกับทิวทัศน์เบื้องหน้า เป็นสวนชาที่แผ่กว้างไปถึงเส้นขอบฟ้า ดูราวกับตัดขาดออกจากโลกภายนอกเลยทีเดียว
แต่ละฤดูกาลมีชาให้บริการแตกต่างกัน บางฤดูเป็นชาร้อน บางฤดูเป็นชาเย็น กรณีที่เป็นชาร้อนก็จะได้รับใบชาและน้ำร้อนมาชงเองที่ Chanowa ส่วนชาที่เราได้รับในครั้งนี้ก็คือ Sencha และ Hojicha
เราได้เริ่มชงชาพลางสูดอากาศที่บริสุทธิ์ Hojicha มีกลิ่นหอมแบบไม้และให้รสชาติสโมกกี้แบบชาคั่ว ในระหว่างดื่มชาก็รู้สึกได้ว่าทักษะจากเกม Tocha ช่วยให้เราดื่มด่ำชาได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เป็นช่วงเวลาแสนวิเศษที่ได้สัมผัสจุดเด่นของชาอย่างละเอียดอ่อน พลาดชมต้นชาซึ่งเป็นที่มาของชาที่กำลังดื่มอยู่ ทั้งยังมีอากาศบริสุทธิ์ที่ช่วยให้รสชาติของชาเด่นชัดยิ่งขึ้น
อีกด้านหนึ่ง Sencha เป็นชาที่ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น ซ่อนรสหวานอ่อนๆ ไว้ภายในกลิ่นหญ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาเขียว มีการเตรียมขนมชิ้นเล็กๆ ไว้ให้รับประทานพร้อมกัน เข้ากันได้ดีกับชาทั้ง 2 ชนิด กรณีที่รู้สึกหิวเป็นพิเศษ ก็สามารถนำอาหารว่างอย่างแซนด์วิชและข้าวปั้นมารับประทานได้ด้วย
รอบข้างชั้นลอยเป็นบริเวณที่ไม่ค่อยมีคนเดินผ่าน Chanowa จึงเป็นเหมือนสถานที่ลับห่างไกลจากผู้คน สามารถดื่มชาพลางมองชาวสวนที่กำลังทำงานอยู่ ราวกับได้สัมผัสผลงานจากความพยายามของพวกเขา นอกจากนี้ เนื่องจาก Chanowa ให้บริการแบบจองล่วงหน้าและรองรับครั้งละ 1 กลุ่มเท่านั้น จึงการันตีได้ว่าจะเป็นสัมผัสประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวอย่างแน่นอน
ด้านขวาของโต๊ะคือกระบอกใส่ชาเขียวเย็นที่มีให้บริการในช่วงอากาศร้อน
ชั้นลอยมีขนาดกว้างขวางมาก รองรับกลุ่ม 5 คนได้อย่างสบายๆ มีพื้นที่เพียงพอต่อการนอนเล่นรับแสงแดด นอกจากเสียงปลิวไหวของต้นชาแล้วก็เงียบสงบราวกับกำลังนั่งสมาธิอยู่ เมื่อเวลาผ่านไป 90 นาที เราก็เก็บสัมภาระและเดินทางออกจากสวนชา รู้สึกทันทีว่าได้กลับสู่โลกแห่งความจริงแล้ว
ข้อควรระวัง
– ต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน
– ก่อนถึงเวลาจองอย่างน้อย 30 นาที ให้เดินทางไปถึงร้านชาที่เลือกไว้ในแพลนเพื่อรับอุปกรณ์และฟังคำอธิบาย
– เว็บไซต์สำหรับจองรองรับเฉพาะภาษาญี่ปุ่น มีกำหนดการที่จะรองรับภาษาอื่นๆ ในอนาคต
สัมผัสชาญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งที่จังหวัดไซตามะ
ชื่อเสียงของชา Sayama อาจไม่โด่งดังเท่าชาอื่นๆ ของญี่ปุ่น แต่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตได้ปลูกชาคุณภาพยอดเยี่ยมนี้อย่างระมัดระวังและลงลึกถึงรายละเอียด Iruma มีทัวร์และกิจกรรมมากมายที่ผู้ชื่นชอบชาไม่ควรพลาด รวมถึงการผ่อนคลายท่ามกลางสวนชาที่รองรับผู้คนได้ทุกรูปแบบ หากต้องการสัมผัสวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์ในละแวกใกล้โตเกียว ทริปสำรวจโลกแห่งชา Sayama ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง